การสอนโครงงานวิทยาศาสตร์สู่องค์รวม ตอนที่ 4
หลังจากที่เราออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เราก็นำไปจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนพรพรรณ ขอนำเสนอผลงานที่ได้นำไปสอนนักเรียนในโอกาสที่เข้าอบรมสัมมนาครูศูนย์เรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน มีจำนวน 10 โรงเรียนทั่วประเทศ เจ้าภาพคือ สสวท.
ผู้เข้าอบรมผลัดกันสอนผลัดกันเป็นนักเรียน และมีการประเมินผลงานด้วย
พรพรรณ ขอนำเสนอผลงานชนะเลิศที่ 1 ดังนี้
ผลงานชนะเลิศศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน
โรงเรียนวัดห้วยแก้ว ตำบล ห้วยแก้ว อำเภอ แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนของท่านเป็นอย่างไร
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนของโรงเรียนวัดห้วยแก้ว ตำบล ห้วยแก้ว อำเภอ แม่ออนจังหวัด เชียงใหม่ มีขนาดห้องกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร มีอุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้หลากหลาย หนังสือส่งเสริมการอ่านด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ มีสื่อเสริมทักษะการคิดคำนวณ และอุปกรณ์ฝึกทักษะการทดลองตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และมีบรรยากาศของห้องที่น่าสนใจ ซึ่งมีครูหัวหน้าศูนย์อยู่ประจำ เพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) และผู้ปกครองหรือผู้สนใจในชุมชน นอกจากนั้นศูนย์เรียนรู้ ฯ ได้จัดกิจกรรมร่วมกับฝ่ายวิชาการโรงเรียนในโอกาสต่าง ๆ เช่นวันวิชาการ วันสำคัญที่โรงเรียนจัดขึ้น และร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ทักษะกระบวนการแบบองค์รวมภาคเรียนละ 2 ครั้ง และจัดนิทรรศการผลงานของศูนย์ ฯให้ชุมชนได้เรียนรู้
กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัล
/ ชนะเลิศ ผลงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ชนะเลิศ ผลงานการประกวดภาพถ่ายวิทยาศาสตร์
ชนะเลิศ ผลงานการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ในรอบ 1 ปี
กิจกรรม : การสร้างModel แฮ้วตักน้ำจากบ่อน้ำ
แฮ้วตักน้ำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวล้านนา มีหลายรูปแบบตามรูปแบบของการใช้ประโยชน์ เพื่อทุ่นแรง เพื่อย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง และเพื่อทำแฮ้วผูกวัว ควาย เลี้ยงไว้กลางทุ่ง ฯลฯ
ปัจจุบันนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่น “แฮ้ว” ใกล้จะสูญหาย ศูนย์เรียนรู้ชุมชนในโรงเรียนวัดห้วยแก้ว จึงขอนำเสนอแฮ้วตักน้ำ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีหลักการวิทยาศาสตร์ คือ การใช้เครื่องกลพื้นฐาน ได้แก่การใช้ รอกพวง รอกพวงประกอบด้วยรอกเดี่ยวตายตัวมาต่อรวมกัน ซึ่งรอกพวงทุกระบบจะช่วยผ่อนแรง
กิจกรรมนี้สามารถนำไปสอนนักเรียนเพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้เรื่องรอก นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและคิดคำนวณหาค่าแรง ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจเรื่องการใช้รอกในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ ผลการเรียน การคิดการคำนวณของนักเรียนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นนอกจากนั้นนักเรียนยังได้ฝึกทักษะการคิด ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
สามารถทำเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ประเภทสิ่งประดิษฐ์ นอกจากนั้นนักเรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้เชื่อมโยงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เช่น การงานอาชีพ ศิลปะ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และสังคม
การประเมินผลการเรียนของนักเรียนใช้งานชิ้นเดียว ประเมินผลได้หลายวิชา ลดชิ้นงานนักเรียนลงได้
ขั้นตอนการทำ
อุปกรณ์
1.ไขควง จำนวน 1 อัน
2.ด้ายขาวแดง จำนวน 2 เมตร
3.เทปกาว จำนวน 1 ม้วน
4.กรรไกร จำนวน 1 อัน
5.แก้วน้ำพลาสติก จำนวน 1 ใบ
6.ลวดเสียบกระดาษตราม้า เบอร์ 00 จำนวน 1 ตัว
7.มีดคัตเตอร์ จำนวน 1 อัน
8.หลอดด้าย จำนวน 2 หลอด
9.ตะปูควง 3 นิ้ว จำนวน 2 ตัว
10.ฟิวเจอร์บอร์ด ขนาดกว้าง 12 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว จำนวน 1 แผ่น
11.แท่งไม้ กว้าง 1 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยาว 70 ซ.ม จำนวน 1 อัน
12.ปลอกปากกา จำนวน 1 อัน
13.สว่านเจาะรู จำนวน 1 อัน
ขั้นตอนการประดิษฐ์
1.ใช้ฟิวเจอร์บอร์ด ทำฐานคล้ายกล่องรองเท้า 1 กล่อง เพื่อใช้แทนพื้นดินสำหรับปักเสาแฮ้ว
2.ออกแบบเสาแฮ้ว ใช้แท่งไม้ยาว 70 เซนติเมตร เจาะรูที่ปลายไม้ด้านหนึ่งห่างจากปลายไม้ 2 เซนติเมตรและอีกปลายด้านหนึ่งห่างปลายไม้ 35 เซนติเมตร สำหรับตอกตะปูควง
3.ใช้หลอดด้าย แทนรอก โดยใช้ตะปูควงสอดก้านหลอดด้าย นำไปตอกลงแท่งไม้ที่เตรียมไว้ หลอดด้ายจะหมุนได้
4.ตกแต่งแก้วน้ำให้เป็นถังตักน้ำ ลวดเสียบกระดาษทำตะขอเกี่ยวถังน้ำ
5.ใช้เชือกขาวแดงพันหลอดด้ายทั้งสองที่ติดแท่งไม้แล้ว เพื่อทำเป็นสายแฮ้ว ปลายด้านหนึ่งผูกกับลวดเสียบกระดาษ
6.รูปแบบแฮ้วตักน้ำ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน
7.ให้นักเรียนนำแฮ้วที่ทำได้ในแต่ละกลุ่ม แข่งขันตักน้ำ โดยใช้เวลาและปริมาณน้ำที่ตักได้ทดสอบความแข็งแรงและใช้งานได้ดีของแฮ้วตักน้ำจากบ่อน้ำ โดยใช้ปลอกปากกาเสียบที่หลอดด้ายตัวล่างสำหรับหมุนสายแฮ้ว
โจทย์ปัญหา
ให้นักเรียนออกแบบทำแฮ้วตักน้ำโดยใช้หลอดด้ายทำรอกพวง 2 ตัว และปักเสาแฮ้ว ห่างจากบ่อน้ำ 0.4 เมตร ความสูงของแฮ้ว ห่างจากพื้นผิว 0.3 เมตร ถ้าตักน้ำเต็มถังหนัก 66 นิวตัน ท่านต้องออกแรงเท่าใดจึงจะสามารถยกถังน้ำขึ้นมาจากบ่อน้ำได้
ความรู้สึกต่อผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1
ข้าพเจ้า นางพรพรรณ ใจอินทร์ ตำแหน่ง ครู ชำนาญการพิเศษ ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ได้ออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้กิจกรรม”การสร้าง Model แฮ้วตักน้ำจากบ่อน้ำ” นั้น มีความภาคภุมิใจมากเมื่อรู้ว่าชนะเลิศที่ 1 และได้รับโล่รางวัลจาก สสวท. เพราะว่านักเรียนที่สอนคือคุณครูจากศูนย์เรียนรู้ชุมชนจากทุกภาคของประเทศที่มาสัมมนาครั้งนี้ซึ่ง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และดีใจ ที่กรรมการตัดสินเป็น นักเรียน(สมมติ)ทุกคนรวมทั้งคณาจารย์จาก สสวท.ด้วย
และภาคภูมิใจที่ได้เผยแพร่ผลงานให้คณะครูผู้สัมมนาทั่วประเทศ ได้นำ”แฮ้ว”ไปสอนนักเรียนในศูนย์เรียนรู้ในชุมชนต่อไปโดยมีการรับรองผลงานด้วยรางวัลชนะเลิศที่ 1 และดีใจที่ได้ส่งเสริมการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยล้านนาไม่ให้สูญหาย
ขอขอบคุณ สสวท. ที่ให้โอกาสดีดีแก่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนในโรงเรียน
ทั่วประเทศ และโรงเรียนวัดห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
สพป.เชียงใหม่ เขต 1
เข้าชม :
3500 [ ขึ้นบน ]
|