การสอนโครงงานวิทยาศาสตร์สู่องค์รวม ตอนที่ 2
กิจกรรมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง ตั้งแต่กำหนดปัญหาหรือเรื่องที่สนใจ วางแผนการศึกษาค้นคว้า การรวบรวมข้อมูลหรือการทดลอง และสรุปผลการศึกษาค้นคว้า และ นักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวถึงความสำคัญ และประโยชน์ของกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ที่จะเกิดต่อนักเรียนว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในสาระการเรียนรู้ ช่วยทำให้นักเรียนเกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำ ไป ใช้ในการแสวงหาความรู้ ช่วยพัฒนาเจตคติทางวิทยาศาสตร์ และคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ความคิด ริเริ่มสร้างสรรค์ ความเชื่อมั่นในตนเอง ความมีวินัยในตนเอง และความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ดังนั้น พรพรรณได้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างชุดการเรียนการสอนฝึกตั้งประเด็นศึกษาและวางแผนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง หยุดโลกร้อนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดเป็นชุดการเรียนการสอน 7 ชุด ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ แบบสืบเสาะ (Inquiry) 6E ดังนี้ (Eisenkraft. 2003, หน้า 56)
6 ขั้นการนำไปใช้ (Extention)
5 ขั้นการประเมิน (Evaluation)
4 ขั้นการขยายความรู้ (Elaboration)
3 ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)
2 ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration)
1 ขั้นสร้างความสนใจ (Engagement)
กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry) 6 E
ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้
เป็นส่วนที่ระบุวิธีการจัดกิจกรรมเพื่อบรรลุตามจุดประสงค์ ที่ตั้งไว้ วิธีจัดกิจกรรมนี้ได้จัดไว้เป็นขั้นตอน ซึ่งนอกจากสอดคล้องกับวิชาแล้วยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนในการดำเนินกิจกรรมด้วย ขั้นตอนการดำเนินการที่กล่าวมีดังนี้
1 ขั้นสร้างความสนใจ(Engagement) เป็นการนำเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจและ เป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนก่อน โดยการฝึกนั่งสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรม เพื่อปลูกฝังเงื่อนไขคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาจมีการสนทนาซักถาม หรือเกิดการอภิปรายในกลุ่ม เรื่องที่น่าสนใจอาจมาจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
2 ขั้นสำรวจและค้นหา (Exploration)
เมื่อทำความเข้าใจในประเด็นศึกษา หรือคำถาม ที่สนใจที่จะศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็มีการวางแผนกำหนดแนวทางการสำรวจตรวจสอบ ตั้งสมมติฐาน กำหนดทางเลือก ลงมือปฏิบัติเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ วิธีการสำรวจตรวจสอบอาจทำได้หลายวิธี เช่น ทำการทดลอง ทำกิจกรรมภาคสนาม การใช้อินเทอร์เน็ท การใช้แหล่งวิทยาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยสร้างสถานการณ์จำลอง การศึกษาหาข้อมูลจากเอกสารอ้างอิง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้ในขั้นต่อไป
3 ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) เมื่อได้ข้อมูลอย่างพอเพียงจากการสำรวจตรวจสอบแล้ว จึงนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ แปลผล สรุปผล และนำเสนอผลที่ได้ในรูปแบบต่าง ๆ
4 ขั้นการขยายความรู้ (Elaboration) เป็นการนำความรู้ที่สร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือแนวความคิดที่ค้นคว้าเพิ่มเติม หรือนำแบบจำลองหรือข้อสรุปที่ได้ไปใช้อธิบายสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ
5 ขั้นการประเมิน (Evaluation) เป็นการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ว่านักเรียนมีความรู้อะไรบ้าง อย่างไร และมากน้อยเพียงใด โดยครูผู้สอนและนักเรียนต้องใช้คำถามเพื่อความเข้าใจตรงกัน
6 ขั้นการนำไปใช้ (Extention) เป็นขั้นที่นำชุดการเรียนการสอนฝึกตั้งประเด็นศึกษาและวางแผนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาใช้ฝึกนักเรียนในการคิดตั้งประเด็นศึกษา และวางแผน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยโครงงาน (Project Approach)
การจัดกิจกรรมโครงงาน หมายถึง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้นักเรียนได้เลือกและสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำผลการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริง
โครงงานวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้นักเรียนค้นหาคำตอบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองในการแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ (Science Process Skill) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) และ เจตคติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude)
วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)
เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แสวงหาความรู้ แก้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) ระบุปัญหา
2) ตั้งสมมติฐาน
3) ทำการทดลอง
4) รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์
5) สรุปผลการทดลอง
ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ (Science Process Skill)
เปรียบเสมือนเครื่องมือที่จำเป็นในการใช้แสวงหาความรู้ และแก้ปัญหา แบ่งเป็น 13 ทักษะ คือ
1) การสังเกต
2) การลงความเห็นจากข้อมูล
3) การจำแนกประเภท
4) การวัด
5) การใช้ตัวเลข
6) การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปส และสเปส
กับเวลา
7) การสื่อความหมายข้อมูล
8) การพยากรณ์
9) การชี้บ่งและการควบคุมตัวแปร
10) การตั้งสมมติฐาน
11) การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการของตัวแปร
12) การทดลอง
13)การตีความหมายข้อมูลและการลงข้อสรุป
เจตคติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude)
หมายถึง ลักษณะหรือท่าทาง หรือพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ หรือความรู้สึกของแต่ละบุคคล ลักษณะผู้มีเจตคติทางวิทยาศาสตร์ คือ
1) มีเหตุผล
2) อยากรู้อยากเห็น
3) มีใจกว้าง
4) ซื่อสัตย์และมีใจเป็นกลาง
5) มีความเพียรพยายาม
6) มีการคิดรอบคอบก่อนตัดสินใจ
(กว่าจะถึงตอนนี้ ทำข้อมูลหายหลายรอบมาก เวลาตอนนี้หมดแล้ว ค่อยพบกันอีก ตอนที่ 3)
เข้าชม :
3240 [ ขึ้นบน ]
|